ระนาด, ระนาดเอก

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงนำไม้ทำอย่างกรับหลาย ๆ อันวาง เรียงตีให้เกิดเสียงอย่างหยาบ ๆ ขึ้นก่อน แล้วคิดทำไม้รองเป็นรางวางเรียงไป ต่อมา จึงประดิษฐ์ดัดแปลงให้มีขนาดลดหลั่นกัน วางบนรางเพื่อให้อุ้มเสียงได้ จากนั้นจึงใช้ เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ นั้นให้ติดกัน ขึงแขวนไว้บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงกังวาน ไพเราะลดหลั่นกันตามต้องการ และใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายลูกระนาดเพื่อถ่วงเสียงให้ไพเราะยิ่งขึ้น ให้ชื่อว่า “ระนาด”

 ต่อมามีผู้คิดประดิษฐ์ระนาดอีกชนิดหนึ่งให้มีเสียงทุ้ม ฟังนุ่มไม่แกร่งกร้าว เหมือนอย่างเก่า จึงเรียกระนาดอย่างใหม่นั้นว่า “ระนาดทุ้ม” และเรียกระนาดอย่างเก่าว่า “ระนาดเอก” (ดู ระนาดทุ้ม ประกอบ)

 ระนาดเอกถ้าต้องการเสียงไพเราะนุ่มนวลมักนิยมทำด้วยไม้ไผ่บง ถ้าต้องการให้เสียงเกรียวกราวมักนิยมทำด้วยไม้แก่น เช่น ไม้มะค่า ไม้ชิงชัน ลูกระนาดมีจำนวน ๒๑ ลูก ลูกต้น (อยู่ซ้ายมือของผู้ตี) ขนาดยาวประมาณ ๓๙ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร หนา ๑.๕ เซนติเมตร ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนถึงลูกที่ ๒๑ หรือ ลูกยอด (ขวามือของผู้ตี) มีขนาดยาว ๒๙ เซนติเมตร ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกติดกันเป็นผืนแขวนบนราง ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็งมีรูปคล้ายลำเรือ ด้านหัวและท้ายโค้งขึ้นเพื่อให้อุ้มเสียง มีแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางระนาดเรียกว่า “โขน” วัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งถึงโขนอีกข้างหนึ่งยาวประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร มีฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมรองตรงส่วนโค้งตอนกลางเรียกว่า “เท้า”

 ระนาดเอกใช้ไม้ตี ตอนมือถือเหลาเล็ก ทำเป็น ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งทำด้วยวัสดุแข็ง ตอนปลายที่ใช้ตีพอกด้วยผ้าชุบยางรัก บรรเลงให้เสียงดังเกรียวกราว เมื่อผสมเข้าวงเรียกว่า “ปี่พาทย์ไม้แข็ง” ไม้ตีอีกชนิดหนึ่งคิดทำกันขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำด้วยวัสดุซึ่งนุ่มกว่า ใช้ผ้าพันแล้วถักด้ายสลับจนนุ่ม บรรเลงให้เสียงนุ่มนวล เมื่อผสมเข้าวงเรียกว่า “ปี่พาทย์ไม้นวม” ผู้ตีนั่งหันหน้าเข้าหาเครื่องดนตรี จับไม้ข้างละมือตีคู่ ๘ พร้อมกัน

 ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีนำของวงปี่พาทย์เพราะไม่ว่าจะเริ่มเล่นเพลงหรือเปลี่ยนเพลง ทั้งวงจะยึดแนวของระนาดเอกเป็นหลัก นอกจากนี้ ระนาดเอกยังเป็นเครื่องดนตรีหลักในการนำไปผสมวง เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์นางหงส์ หรือแม้ในวงมโหรี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล็ก เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ก็ใช้ระนาดเอกเป็นหลักทั้งสิ้น (ดู ปี่พาทย์; มโหรี ประกอบ)